ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

จะกินยา หรือไม่กินดี?

ToTakeOrNotToTakeโชคดีมากที่ปัจจุบันโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์สามารถรักษาได้ด้วยยา คนไข้ที่มีวินัยหาหมอกินยา 6 เดือนถึงปีกว่าส่วนใหญ่ก็จะหายและได้หยุดยา สาเหตุใหญ่ที่ทำให้บางคนไม่หายคือ “ไม่อยากกินยา”

จะกินไม่กินดี?

เมื่อไม่อยากกินยา แต่หมอสั่งให้กิน เราจะเกิดอาการลังเล “จะกินไม่กินดี?” แล้วลงเอยที่ “กินๆหยุดๆ” ซึ่งแย่กว่าไม่กินเสียอีก สภาวะนี้ทำให้เครียดหนักมาก กินก็รู้สึกแย่ ไม่กินก็อาการแย่ สับสนตำหนิตัวเองวนไปวนมา จะทำยังไงดี?

คำตอบคือ ตัดสินใจเสีย จะ กินยา หรือ ไม่กินยา
ลังเลทำให้เครียดมาก ฟันธงไปก็จบ วิธีการคือให้พิจารณาทั้งสองทาง กินยาดีไม่ดีไง ไม่กินยาดีไม่ดีไง ถ้าสรุปทางไม่กินยา ก็บอกหมอได้ (อย่าหนี) มีหลายคนที่อาการน้อย แล้วก็ตกลงกับหมอว่าเลือกจะไม่ใช้ยา หมอก็โอเคอยู่แล้วเพราะเป็นสิทธิคนไข้ แล้วยังไงก็ต้องไปพบหมอเป็นประจำ เพื่อคุย ฟังคำแนะนำ และได้ประเมินอาการไปตลอด แล้วถ้าตอนแรกตัดสินใจกินยาแล้วเปลี่ยนใจก็ให้กลับไปบอกหมอว่าขอเปลี่ยนโหมด ไม่กินยาแต่หาหมอ ยังดีกว่าสู้คนเดียวโดยที่ตัวเองไม่มีความรู้อะไรเลย

ไม่กินยาได้ไหม?

ได้ เนื่องจากระยะดีเพรสหรือแมเนียของคนส่วนใหญ่จะสิ้นสุดเองอยู่แล้ว อาจจะหลักเดือนหรือปี ถ้าทนได้และไม่ต้องทำงานก็อาจจะเลือกไม่กินยา แต่ปัญหาคือ
  1. ระยะดีเพรสเราจะอยากฆ่าตัวตาย ยาช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้มาก ถ้าไม่กินยา เราอาจเป็น 1 ใน 5 ผู้ป่วยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ทิ้งความเจ็บปวดที่สุดไว้ให้คนรอบตัว
  2. ระยะแมเนียเราอาจจะประสาทหลอน (เช่นเห็นผี) หลงผิด (เช่นเป็นมหาเศรษฐี) แล้วทำอะไรซึ่งทำลายชีวิตสังคมพังจนกู้กลับมาไม่ได้
  3. ระยะแมเนียเราจะชอบทำสิ่งที่เสี่ยงมากๆ โปรเจคเพียบ ลงทุนมหาศาล ขับรถเร็ว เซ็กส์ที่ไม่ป้องกัน ยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งทำให้ชีวิตสังคมพังได้เหมือนกัน
  4. เราทนได้ แต่คนรอบตัวทนไม่ได้ เวลามีอาการหลายคนจะขี้หงุดหงิด บางคนวีนเก่ง คนรอบตัวอาจจะทนไม่ไหว สุดท้ายโดนจับแอดมิด
  5. ไม่มีทางรู้ว่าอาการแต่ละครั้ง มันจะนานกี่เดือนหรือปี แน่ใจหรือเปล่าว่าทนได้จริงๆ?
  6. จะทนไปทำไมในเมื่อมียารักษาได้ น่าจะเคยเห็นคนที่เป็นโรคแล้วไม่ยอมรักษา สุดท้ายหนักเจียนตายหรือตายไปเลย ทั้งที่โรครักษาได้ น่าเสียดายจริงๆ

ทำไมไม่อยากกินยา?

ประมวลจากเพื่อนๆเราในกรุ๊ป
  1. ยิ่งกินยายิ่งตอกย้ำ ทุกครั้งที่กินยา มันเตือนให้เราต้องนึกว่าเราเป็นโรคนี้ โรคซึ่งเราและสังคมรังเกียจ
  2. ผลข้างเคียงมากเกินไป เช่น ง่วงเบลอจนทำงานไม่ได้, มือสั่นจนน่าอาย ฯลฯ
  3. ความเชื่อว่า กินยาแล้วตับไตพัง
  4. ความเชื่อว่า ถ้ากินก็จะต้องกินไปตลอดชีวิต
  5. ความเชื่อบ้าๆอื่นๆ

ยิ่งกินยายิ่งตอกย้ำ?

ความรู้สึกนี้เกิดจากตราบาปในใจเราเอง คนไทยส่วนใหญ่จะรังเกียจผู้ป่วยโรคจิตเวชอยู่แล้ว (ความรังเกียจนี้เรียกว่าตราบาป หรือ stigma) เพราะไม่เคยเรียนรู้เกี่ยวกับโรคเหล่านี้ (ทำไมโรงเรียนไม่สอน?) แล้วเราก็เป็นคนไทยคนนึง ความรู้สึกรังเกียจนี้ก็มีอยู่ในใจเรา พอเราเป็นก็เลยรับไม่ได้ที่เป็น (self-stigma) เหมือนคนที่เพิ่งรู้ว่าเป็นเอดส์ แต่หนักกว่า คือพวกเราหลายคนใช้วิธีปฏิเสธว่าตัวเองป่วย (ซึ่งผู้ป่วยเอดส์ทำไม่ได้) หลายคนป่วยมาหลายปี ผ่านมาหลายวิกฤติ ก็ยังสงสัยว่าตัวเองไม่ได้ป่วย คือหมอๆเข้าใจผิด (แล้วคนรอบตัวก็ชอบกรอกหูว่างั้นด้วย)
คนที่ไม่รังเกียจโรคจะไม่มีปัญหานี้เลย คือมองแบบ “ฝรั่งใครๆก็ไปหาจิตแพทย์กัน ไม่เห็นเป็นเรื่องประหลาดเลย” พวกนี้สามารถกินยาได้โดยไม่รู้สึกอะไร เหมือนกินวิตะมิน หลายคนรู้สึกดีกับยาที่กินด้วย “เม็ดนี้ทำให้ฉันมีกำลัง เม็ดนี้ทำให้ฉันนิ่ง เม็ดนี้ทำให้ฉันสงบ” แล้วพวกนี้ก็จะหายเร็ว ขณะที่พวกที่กินๆหยุดๆยังอาการหนักเหมือนเดิม
ไม่เป็นไรทัศนคติแก้ไขได้ เอาใหม่ ลองมองสถานการณ์ปัจจุบันแบบนี้ดู
  1. ยอมรับความซวย ทำความเข้าใจว่าโรคกลุ่มนี้เป็นโรคทางสมอง เหมือนอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสัน เราไม่ได้บ้า ไม่ได้โรคจิต ไม่ได้นิสัยเสีย ไม่ได้ทำผิดอะไร แค่เป็นโรค เราแค่ซวยที่มีพันธุกรรมบวกมีเรื่องสุดท้ายผลักลงมา ก็เลยเป็นโรคนี้ แค่ซวย เหมือนใครอยู่ดีๆเป็นไข้เลือดออก วัณโรค หรือมะเร็ง ฯลฯ เขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร ยอมรับความซวยนี้เสีย เพราะถ้าไม่ยอมรับเราจะยิ่งทรมานและไม่มีทางหาย ความจริงมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่มโนเลย เพราะว่ารักษาได้ ถ้าเราตั้งใจรักษาก็หาย อีกอย่าง ใครก็ต่างซวยในด้านต่างๆกันทุกคน หลายคนไม่มีจะกิน ไม่มีบ้าน หลายคนเป็นโรคที่อยู่ได้อีกไม่นาน หลายคนขาดอวัยวะที่เรามี ทุกคนมีส่วนแบ่งของความซวยไม่น้อยทั้งนั้น เลิกสงสัยว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน” เพราะจริงๆคือซวยกันคนละแบบทุกคน
  2. โรคจิตเวชไม่ได้น่ารังเกียจ ความรู้สึกนี้เราติดมาจากสังคม จึงต้องค่อยๆขูดออก เราแค่เป็นโรคที่คนไม่ค่อยรู้จัก สังคมพอไม่รู้จักอะไรก็จะกลัวอันนั้น เราจึงต้องเรียนรู้เรื่องโรคของเราเยอะๆ คุยกับผู้ป่วยคนอื่น แล้วเราจะพบว่าโรคกลุ่มนี้ก็เหมือนโรคอื่นๆ เป็นกันทั่วไป รักษาได้ หายได้ เป็นแล้วก็ไม่ได้ชั่วร้าย ไม่ได้หมดอนาคต ถ้าคุยกับผู้ป่วยเยอะๆ จะพบว่าพวกเราส่วนใหญ่ทำงานทำการอยู่ในสังคมตามปกติ หลายคนเก่งมากด้วย ไม่มีใครรู้ว่าเค้าป่วยด้วยซ้ำ ที่เราเคยมโนว่าโรคนี้น่าเกลียดน่ากลัว เป็นเพียงจินตนาการแบบเดียวกับผีในความมืด เปิดไฟเห็นของจริงแล้วผีก็จะหายไป ดังนั้งจงเปิดไฟและมองออกไปดู

ผลข้างเคียงมากเกินไป?

Happy_Pillsยาทุกตัวมีผลข้างเคียง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในแต่ละคน หมอจะเป็นคนเลือกยาที่ (1) ได้ผลดีกับเรา และ (2) มีผลข้างเคียงกับเราในระดับที่เรายอมรับได้ ไม่กระทบกับชีวิตและงาน หมอไม่จำเป็นต้องเลือกยาถูกตั้งแต่ครั้งแรก นั่นทำให้เรามีนัดพบหมอบ่อยๆในช่วงแรก เพื่อปรับเปลี่ยนยาจนกว่าจะเจอยาที่ใช่ ผู้ป่วยที่รักษาไประยะหนึ่งแล้วจะยืนยันได้ว่ายาที่ใช่มีจริง และมันเยี่ยมยอดที่สุด เพราะมันทำให้พวกเค้ากลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนสมัยก่อนป่วย
ผลข้างเคียง ต่างจากอาการแพ้ยาซึ่งจะรุนแรงฉับพลันและต้องหยุดยาทันที ผลข้างเคียงมักจะเป็นมากเมื่อเริ่มต้นกินยา และน้อยลงๆไปเรื่อยๆในสัปดาห์ต่อๆไป เมื่อร่างกายค่อยๆปรับตัว ผลข้างเคียงอันดับหนึ่งคือความง่วงเบลอจะสร้างปัญหาในสัปดาห์แรกๆ แต่หลังจากกินยาไปนานๆก็จะหายไปเอง หลายคนพอเจอความง่วงแบบนั้นแล้วก็หยุดกินยาเอง คิดว่าง่วงขนาดนี้จะทำงานยังไง แล้วไม่ได้กลับไปบอกหมอด้วย เลยไม่รู้ว่ามันเป็นแค่ช่วงแรกเท่านั้น
เมื่อเจอปัญหาจากผลข้างเคียงมากเกินไป ให้นัดหมอทันที (ไม่ต้องรอนัดเดิม) เพื่อจะได้เล่าให้หมอฟังว่า ผลข้างเคียงมากและเป็นอุปสรรคยังไง เพราะว่ายาจิตเวชกลุ่มนี้มีหลายสิบตัว หมอยังมีทางเลือกอีกมากมายในการปรับยาให้อุปสรรคนั้นหายไป (เช่นมือสั่นมียาแก้ได้) ดังนั้นการติดปัญหาจากผลข้างเคียงไม่ใช่ทางตัน แค่เล่าให้หมอฟังเสมอ (บางคนไม่เล่าทนเอา นึกว่าผลข้างเคียงเลี่ยงไม่ได้) เมื่อผลข้างเคียงมีมากจนเป็นอุปสรรคกับชีวิตและงาน หมอจะแก้ให้แน่นอน

กินยาเยอะๆแล้วตับไตพัง?

เป็นความเชื่อของคนไทยเหมือนกระสือ ไม่มีใครเจอ แต่ลือต่อๆกันมา มียาบางตัวที่กินเยอะแล้วตับพังจริงๆคือ ยาแก้ปวดและสเตียรอยด์แค่นั้น แล้วถ้าดูสาเหตุหลักๆจริงๆ ตับจะพังเพราะแอลกอฮอล์กับไวรัส ไตจะวายเพราะเบาหวาน(อ้วน)กับความดันสูง (แล้วไม่ยอมกินยารักษาจนไตวาย) ไม่ค่อยมีใครตับไตเสียเพราะยา นอกเหนือจากยาที่บอกไป
ยาจิตเวชมีไม่กี่ตัวที่มีผลเสียกับตับบ้าง (เช็ครายชื่อได้) เมื่อหมอเป็นคนสั่ง และได้เจอหมอเป็นประจำ หมอก็ย่อมระวังไม่ให้เราเป็นอะไรเพิ่ม ถ้าเสี่ยงหมอจะก็สั่งตรวจเลือด ไม่มีทางรอให้ตับไตพัง คนไทยเชื่อว่าหมอจะบ้าสั่งยาทำให้ตับไตพังได้ไง ในเมื่อเขาเรียนมาสิบปีเพื่อไม่ให้พลาดแบบนั้น ในเมื่อวงการแพทย์สะสมความรู้มาร้อยกว่าปี วิจัยทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีก ใช้ข้อมูลจากคนนับล้านทั่วโลก แล้วคนที่บอกว่ากินยาที่หมอสั่งเยอะๆแล้วตับไตพัง เอาข้อมูลมาจากไหน (มโนล้วนๆ) แต่ถ้าซื้อยากินเองก็มีสิทธิ์
ถ้ายังไม่เชื่อสนิทใจก็อ่านต่อ เภสัชกรเขียนอธิบายละเอียดเข้าใจง่ายดี บทความนี้ 

ถ้ากินก็จะต้องกินไปตลอดชีวิต?

คนที่มีวินัยหาหมอกินยาไม่นานก็จะหายและได้หยุดยา ปัญหาจะเกิดกับคนที่ไม่ชอบกินยา ก็เลยกินๆหยุดๆ ทุกครั้งที่หยุดยาเอง นอกจากอาการจะกำเริบหนักกว่าเก่าแล้ว ยังทำให้ยาได้ผลน้อยลง บางครั้งหมอต้องเพิ่มหรือเปลี่ยนยา แล้วแนวโน้มที่จะหายก็น้อยลง แนวโน้มที่จะต้องกินยาไปตลอดชีวิตก็สูงขึ้นเรื่อยๆ บางคนเปลี่ยนยาจนหมอหมดทางเลือกแล้ว จนต้องใช้วิธีที่มีผลข้างเคียงมากขึ้นไปอีก เช่นช็อคไฟฟ้า (ECT)
ดังนั้นประโยคที่ถูกคือ “ถ้ากินๆหยุดๆก็จะต้องกินไปตลอดชีวิต”

กินยาตลอดชีวิตไม่ได้?

คนที่หยุดยาเองมีโอกาสที่จะต้องกินยาตลอดชีวิต หรือบางทีคนที่เริ่มต้นรักษาช้าไปหลาย(สิบ)ปี หรืออาการหนักมาก อารมณ์แกว่งรุนแรงและบ่อย หรือรักษาหายแล้วเจอวิกฤติเลยกลับมามีอาการใหม่ พวกนี้อาจต้องกินยาตลอดชีวิต แต่ตั้งใจฟังดีๆ มันไม่ได้หมายความอย่างที่คิด มันหมายความว่าพอรักษาไปจนไม่มีอาการ นิ่งดีแล้ว หมอจะให้ลดยาไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ลดจนหมด เราจะต้องกินยาขนาดต่ำๆ (เช่นวันละ 1 เม็ดเล็กสุด ไม่เหมือนที่กินเพื่อรักษา) ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันอาการกลับมาอีก ก็เหมือนกับคนที่เป็นไมเกรนเรื้อรัง แม้ไม่ปวดก็จะต้องกินยาเม็ดนึงทุกวันเพื่อป้องกัน
แต่หลายคนตั้งข้อแม้ว่า รับไม่ได้ที่ต้องกินยาตลอดชีวิต
  1. เชื่อไหมว่า มีพวกเราที่หมอให้หยุดยาได้ แต่บอกหมอว่าสมัครใจขอกินยาป้องกันไปตลอด เพราะไม่อยากมีอาการอีกเวลาปัญหาเข้ามาเยอะๆ
  2. เรากินข้าวตลอดชีวิตได้ไหม เราแปรงฟันเช้าเย็นตลอดชีวิตได้ไหม บางคนกินอาหารเสริมทุกวันได้ การกินยาทุกวันมันไม่ได้เพิ่มภาระเท่าไหร่ ปัญหาอยู่ที่เราเกลียดยาไหมเท่านั้น
  3. สมมุติเราเริ่มต้นขี่จักรยานทุกวัน แล้วเพื่อนบ้านเห็นบ่อยๆเลยถาม “จะขี่จักรยานไปตลอดชีวิตเลยเหรอ” เราตอบใช่ เพราะเรามองว่าการขี่จักรยานมีประโยชน์กับเรา (คนอื่นช่างหัวมัน) เช่นเดียวกัน คำถามเรื่องกินยาตลอดชีวิต ถ้าเราเกลียดยาก็จะรับไม่ได้ ถ้าเรามองว่ายามีประโยชน์กับเรา เราอาจจะขอหมอแบบข้อ 1 ด้วยซ้ำ

กินๆหยุดๆแล้วจะหายไหม?

คนที่สองจิตสองใจจะใช้วิธีกินๆหยุดๆ เพราะถ้าหยุดไปเลยก็จะรู้สึกผิดและกลัว แต่ก็ไม่มีวินัยกินยา เพราะเกลียดยา ผลคือยาไม่เคยออกฤทธิ์ แต่ผลข้างเคียงมาเต็มไม่ลดลง (เพราะไม่ได้กินต่อเนื่อง) ก็เลยยิ่งเกลียดยาเข้าไปใหญ่ วนเป็นวงจรอุบาทว์ที่อันตรายถึงชีวิต
สาเหตุคือเข้าใจว่ายาจิตเวชออกฤทธิ์เหมือนพารา คือกินแล้วมีผลตอนนั้น เวลามีอาการก็เลยกินยาไปสองสามสี่วัน อารมณ์ดีขึ้นวันนึงก็หยุดกิน อารมณ์แย่ลงก็กลับมากินใหม่ คือกินตามอาการ แต่ยาจิตเวชส่วนใหญ่ไม่เหมือนพารา จึงต้องทำความเข้าใจยาของเราใหม่
ยาโรคเรามี 3 กลุ่ม
  1. ยาคลายกังวล (บางทีเรียกว่ายานอนหลับ) หมอมักให้กินก่อนนอน ออกฤทธิ์แบบพารา คือหลังจากกินแป็บเดียวก็เริ่มทำงาน (สงบ ง่วง) ส่วนจะแรงและนานแค่ไหนก็แล้วแต่ตัว
  2. ยาต้านเศร้า แก้อาการดีเพรส ต้องกินยาต่อเนื่อง 4-6 สัปดาห์ (บางคนก็นานกว่านั้น) ถึงจะเริ่มได้ผล หมายความว่ากินวันสองวัน(/สัปดาห์)จะไม่รู้สึกอะไรเลย
  3. ยาคุมอารมณ์ ช่วยรักษาให้อารมณ์นิ่งไม่แมเนีย หลายตัว (ลิเทียมและยากันชัก) ต้องอาศัยกินยาต่อเนื่องเพื่อให้ยาสะสมในร่างกายจนถึงระดับจึงจะเริ่มต้นทำงาน ระหว่างนี้อาจจะต้องตรวจเลือดเพื่อวัดระดับยา หมายความว่ากินวันสองวันจะไม่รู้สึกอะไรเลย
จะเห็นว่ายาต้านเศร้าและยาคุมอารมณ์จะกินตามอาการไม่ได้ คือไม่ได้ผลอะไรเลย มีค่าเท่ากับไม่ได้กิน ได้แต่ผลข้างเคียง ทางเลือกของเราจึงมีแต่ กินอย่างมีวินัย กับ ไม่กินเลย เท่านั้น

หยุดยาเองได้ไหม?

เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุด คือกินยาจนอาการหายไปหมดแล้ว ก็เลยหยุดยาเองและไม่ไปหาหมออีก เพราะวินิจฉัยตัวเองว่าหายแล้ว เพราะเกลียดยาและนึกว่ายาจิตเวชเหมือนพารา ไม่มีอาการก็ไม่ต้องทาน ซึ่งเหล่านี้คิดไปเองล้วนๆ
ยาจิตเวชช่วยให้อารมณ์เราเป็นปกติ แต่ยังไม่ได้แปลว่าหาย อันนั้นต้องให้หมอเป็นคนวินิจฉัยว่าเราหายแล้ว เรา(และคนรอบตัว)วินิจฉัยเราไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนมาทางนี้ เมื่อเรากินยาจนอาการดีขึ้นก็ดีแล้ว แปลว่าเราเจอยาที่ใช่จนได้! (ซึ่งลำบากแค่ไหนกว่าจะมาถึงจุดนั้น) เราก็แค่กินยาชุดเดิมนี้ต่อไปจนกว่าหมอจะให้ลดยา ซึ่งต้องใช้เวลาค่อยๆลดนานเป็นเดือนกว่าจะหยุดยาทั้งหมดได้ เพราะยาจิตเวชหยุดทันทีไม่ได้เด็ดขาด วันเดียวก็นรกแล้ว ทรมานมาก คนที่เคยโดนจะยืนยันได้ ไม่ต้องคิดจะลอง
ปัญหาใหญ่ของการหยุดยาเอง นอกจากทำให้ได้รู้จักกับนรกแล้ว เมื่อกลับมากินยา บ่อยครั้งยาชุดเดิมจะไม่ได้ผลเหมือนเดิม บางทีต้องกินเพิ่ม บางคนทำบ่อยจนไม่มียาตัวไหนได้ผลแล้ว ต้องทำ ECT ถึงจะดีขึ้น บางคนหยุดยาแล้วแมเนียก็มักเชื่อว่าตัวเองหายขาดแล้ว และเริ่มทำลายชีวิตและอนาคตของตัวเอง จนกว่าจะโดนแอดมิด พูดได้ว่าทุกครั้งที่เห็นพวกเราอาละวาด 99.99% มาจากหยุดยาเองเสมอ ทุกคนที่เคยทำต่างฝากมาบอกว่า อย่ามาทางยากนี้เลย แค่กินยาจนหมอให้หยุดก็หายแล้ว ถ้าอ่านบทความนี้แล้วจำได้แค่ประโยคเดียว จำไว้ว่า อย่าหยุดยาเองเด็ดขาด ไม่มีอาการไม่ได้แปลว่าหายแล้ว มันแค่แปลว่ายาเริ่มได้ผล เหมือนยาปฏิชีวนะต้องกินให้ครบแม้จะหายเจ็บคอแล้ว ยาจิตเวชก็ต้องกินต่อไปจนกว่าหมอจะสั่งให้หยุด ไม่งั้นอาจจะได้กินยาตลอดชีวิตจริงๆ ตัวหมอไม่ได้อะไรหรอกนอกจากช่วยให้เราหายขาดเท่านั้นแหละ
อีกกรณีนึงของการหยุดยาเองคือยาหมด เช่น ยาหมด 1 วันก่อนวันนัด หรือหมอติดธุระเลื่อนนัด (หรือกินยาเกินขนาดเลยหมดก่อน) หลายคนคิดเอาเองว่า ขาดยา 1 วันไม่เป็นไร หลายวันถึงจะไม่ดี แต่อ่านถึงตรงนี้จะเข้าใจแล้วว่า ยาจิตเวชไม่เหมือนพารา ขาด 1 วันคือนรกที่สุดแล้ว ดังนั้นให้ (1) ขอยาหมอเกินวันนัดไปสัก 2 สัปดาห์ เผื่อเหตุฉุกเฉิน (2) ถ้ายา(จะ)หมด ให้ไปหาหมอ แม้จะไม่ใช่วันนัด แม้หมอเราจะไม่เข้า แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ายาหมด มารับยา แล้วหมอคนอื่นจะเขียนใบสั่งยาให้ ทุกคนเข้าใจดีว่ายาจิตเวชคอขาดบาดตาย ไม่ต้องห่วง เมื่อมีปัญหาก็ขอความช่วยเหลือไปตรงๆ

ความเชื่อบ้าๆ

ไม่รู้ทำไมเดี๋ยวนี้คนเกลียดอาชีพหมอรองๆมาจากนักการเมืองกับตำรวจเลย ลองนึกดูว่าในชีวิตเราเคยเจอหมอเลวๆสักกี่คน เจอหมอดีๆกี่คน หมอก็เหมือนอาชีพอื่น มีดีมีเลว เราก็ต้องแยกแยะ ไม่ใช่เชื่อว่าหมอเลี้ยงไข้หมด ความจริงคือเราอยากหยุดกินยาเองถึงอ้างไปอย่างนั้น เป็นการเหมาดูถูกอาชีพหมออย่างรุนแรง หมอที่อยากรวยเค้าก็ทำเรื่องสวยๆงามๆ (ซึ่งหลายคนยินดีจ่ายไม่อั้น) จะมานั่งฟังปวดหัวกับเรื่องทุกข์ใจของคนไข้หลายสิบปีทำไม อีกอย่างก็ความเชื่อกินยาแล้วจะบ้า คือบริษัทยามูลค่าเป็นพันล้านลงทุนมหาศาลเพื่อคิดยาแต่ละตัว ทดลองนานหลายปีกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัยและผ่าน อ.ย. เพื่อจะให้คนกินแล้วเป็นบ้า? เอาความคิดนี้มาจากไหนกัน จริงๆมันกลับกัน คำว่าบ้าของคนไทยคือป่วยโรคจิตเวช คนป่วยก็ต้องกินยาแล้วจะไม่บ้า ถ้าไม่กินซิ บางคนวิ่งตัวมอมแมมไปตามถนนจริงๆ (เหมือนยุ้ย รจนา ที่หยุดยาเอง) ประโยคความเชื่อพวกนี้บ้าจริงๆ ไม่มีเหตุผลใดๆประกอบเลย เราต้องฟังหูไว้หู แล้วเช็คข้อมูลก่อนว่าจริงไหม ไม่ใช่เขาพูดแบบนั้น (และเราไม่อยากกินยาด้วย) ก็เลยเชื่อเพราะว่าถูกใจเรา
เพราะถูกใจไม่จำเป็นต้องถูกต้อง และถ้าเราไม่จัดการโรคอย่างถูกต้อง เราเองจะเดือดร้อนที่สุด คนพูดห้ามหรือเชียร์เรา ไม่มีใครเดือดร้อนกับเราสักคน

อ่านจบถึงตรงนี้แล้วอย่าลืมทำการบ้าน

ตัดสินใจให้เสร็จ จะกินยา หรือไม่กิน ฟันธงไปเลย
happy-pill-640x350
























โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้สึกแย่ดิ่งสุดๆ ทำไงถึงจะหาย

ถามกันบ่อยที่สุดคือกำลังดิ่งจะทำยังไงดี ปัญหาคืออธิบายตอนนั้นก็ไม่มีสติพอจะเข้าใจอยู่ดี ดังนั้นทุกคนควรเรียนรู้เทคนิคนี้ไว้ล่วงหน้า มันมาจากจิตบำบัดแบบ ACT ( defusion ) ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากว่าได้ผล แล้วนำมาประยุกต์กับ วิธีเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ช่วงวิกฤติ วิธีทำก็ง่ายมาก จะยากตรงมันตรงข้ามกับคอมมอนเซนส์ เพราะเราเข้าใจธรรมชาติของใจเราผิดมาตลอด แต่ลองทำดูแล้วก็จะเข้าใจเอง เพราะทุกคนที่จัดการมันได้ ต่างก็ค้นพบเทคนิคนี้ได้เองจากการลองผิดลองถูก ความรู้สึกแย่เกิดจาก “ ความคิด”  เสมอ ความรู้สึกแย่ (เช่นโกรธ เสียใจ น้อยใจ กังวล​) เกิดจาก ความคิด ของเรา เสมอ ไม่เคยเกิดจากอย่างอื่น เช่น เขา พูดไม่ดีกับเราเมื่อเย็นวาน ปรากฏตอนนี้เราก็ยังรู้สึกแย่อยู่ ทั้งที่ไม่ได้ยินคำพูดนั้นแล้ว แต่เราเองเป็นคนเล่นซ้ำคำพูดที่เราเกลียดนั้นในหัวเรามาตลอด เขา เป็นต้นเหตุของความคิดนี้ใช่ แต่ ตอนนี้ ที่กำลังรู้สึกแย่ เกิดจาก ความคิดนี้ ของเรา เอง ที่ผ่านมาตอนนั้นเรามักจะโฟกัสความผิดที่ เขา  ซึ่งยิ่งทำให้ความคิดเราวนเวียนหนักขึ้นเรื่อยๆ ความคิดยิ่งมาก ความรู้สึกเราก็ยิ่งแย่ ดิ่งลงไปเร

ลิเธียม ยาดีที่ต้องใช้ให้เป็น

สำหรับคนที่เป็นไบโพลาร์ก็จะได้ทาน ยาคุมอารมณ์ (mood stabilizer) เพื่อจะได้ไม่ต้องมีช่วงแมเนีย และลิเธียมก็คือยาคุมอารมณ์ที่นิยมมากที่สุดตัวหนึ่ง เพราะได้ผลดี, ผ่านมาวิจัยมานานมาก, ราคาถูก และมีส่วนช่วยป้องกันช่วงดีเพรส แต่ลิเธียมเป็นยาที่ใช้ยากนิดนึง เพราะหมอจะต้องค่อยๆปรับยาขึ้นจนกว่าเราจะมียาในเลือดระดับที่พอดี ถ้าน้อยไปมันก็จะไม่ทำงาน ถ้ามากไปก็จะเกิดอาการลิเธียมเป็นพิษ หลายคนที่หมอสั่งลิเธียมให้ พอได้ยินเรื่องลิเธียมเป็นพิษเลยวิตกกังวลหนัก จนความวิตกกังวลนี้กลายเป็นผลข้างเคียงซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ดังนั้นคนที่ทานยาตัวนี้จึงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมสักนิดนึงเกี่ยวกับมัน บทความข้างล่างนี้มาจากคอลัมน์พบหมอรามา อ่านง่ายและครบถ้วนดี แต่ก่อนอื่นผมจะเกริ่นถึงประเด็นที่ทำให้กังวลกันก่อน ผลเสียจากลิเธียมจะมีอยู่ 2 ลักษณะ ถ้าแยกจากกันได้แล้วจะใช้มันได้อย่างสบายใจ ผลข้างเคียง ​ คือผลเสียในโดสปกติ  อาการลิเธียมเป็นพิษ  คืออาการป่วยเพราะมีลิเธียมในเลือดสูงเกินไป อาจจะเพราะได้ยามากเกินไป (เช่นโอเวอร์โดส) หรือเพราะสภาพร่างกายผิดปกติไปมากทำให้ขาดน้ำหรือเกลือแร่ บางคนเข้าใจว่าตัวเองแพ้ลิเธียม

ท็อป 5 ความเข้าใจผิด โรคซึมเศร้าไม่ใช่อย่างที่คิด

โรคซึมเศร้าเป็นคนละอย่างกับอารมณ์เศร้า แต่ชื่อโรคภาษาไทยชวนให้เข้าใจว่า มันก็แค่ความรู้สึกซึมๆเศร้าๆอย่างที่ทุกคนรู้จัก แถมคำอธิบายเกลื่อนเน็ตก็กว้างซะจน ทุกคนอ่านก็คิดว่าตนเคยเป็นโรคนี้ และสามารถวินิจฉัยว่าคนอื่นว่าเป็นหรือไม่ โดยไม่ต้องเสียเวลาเรียน 10 ปีอย่างจิตแพทย์ แต่โรคซึมเศร้าก็เหมือนหลายโรคที่มีความซับซ้อนจนต้องมีแพทย์เฉพาะทาง มันมีรายละเอียดมากและไม่เหมือนกับที่คนเข้าใจเลย แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย เราจึงรู้สึกว่าเรารู้จักมันดีอยู่แล้วด้วยคอมมอนเซนส์ล้วนๆ ต่อไปนี้คือความเข้าใจที่ผิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบ้านเรา (1)  โรคซึมเศร้าไม่มีจริง (2)  ที่เรียกโรคซึมเศร้าก็คือความเศร้า (3)  ฉันก็เคยเป็น แต่ฉันไม่ยอมแพ้ (4)  มันอยู่ที่ใจแค่นั้น สู้ๆ ลุกขึ้นมาก็หายแล้ว (5)  หมอกุเรื่องขึ้นมาเพื่อให้บริษัทยารวย 1 ความเชื่อ: โรคซึมเศร้าไม่มีจริง  โรคจิตเวชจะต้องเสียสติเป็นคนบ้า ความจริง:  องค์การอนามัยโลกบอก ว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า (MDD) นั่นมากกว่า 4% ของประชากรโลก  ส่วนในไทย ปี 2551 กรมสุขภาพจิตประมาณว่ามี คนไทย 1.5 ล้านคน เป็นโรคซึมเศ

เจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ทำไงดี

เหมือนชีวิตกำลังเล่นปิงปองกับเรา ตีลูกยากง่ายใส่เราตลอดเวลา เรื่องกวนใจ ปัญหา ความสูญเสีย. บางคนเจอปัญหาแล้วจมอยู่ตรงนั้น ประทัวง “ลูกยากไม่เล่น”. บางคนยากง่ายรับหมดเต็มที่ เจอลูกยากอาจล้มเข่าถลอกแต่รีบลุกเล่นต่อ. ทำได้ไงอะ? ชัยจะต้องพรีเซ็นต์หัวข้อแรกตอนเช้าในงานสัมมนาของผู้บริหารหลายองค์กร. เช้านี้รถติดสาหัส. เขาร้อนใจจึงโทรไปบอกผู้จัดว่ากำลังจะถึง ให้เตรียมที่จอดรถไว้ให้เพราะปกติจะเต็ม. เกือบเฉี่ยวชนหลายหน แต่รถเขาก็ถึงสถานที่ตรงเวลาพอดี. เขาพารถไปโซน VIP ช่องที่มีเลขทะเบียนรถเขา แต่ยามไม่ให้จอด. เหลือเชื่อตัวเลขผิดไปหลักนึง. ยามให้วนขึ้นไปจอดในอาคาร บอกดาดฟ้ามีที่ แต่เขาไม่มีเวลาแล้ว. มันไม่ถูก เขาเถียง ช่องนี้เตรียมไว้ให้เขา ไม่ยุติธรรมเลย. รถข้างหลังต่อแถวยาวขึ้นๆ. เขายิ่งเถียงเสียงดังขึ้นๆ เลขผิดนิดเดียว เขาจอดโซนนี้ประจำ เจ้านายคุณรอเขาอยู่ ฯลฯ แต่ยามไม่ฟัง. ชีวิตเรามีปัญหาตลอด ในชีวิตเราจะพบกับปัญหาที่แก้ไม่ได้ และความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องการ อยู่ตลอดเวลา. แต่เราพยายามมองไม่เห็นมัน. ถ้าเรื่องเล็กเราก็แค่สะสมความเครียด. เช่นเวลาหาของไม่เจอ, เพื่อนทำไม่ถูกใจ, โดนดูถูก ฯลฯ. ถ้

เป็นโรคจิตเวชไม่ได้ทำให้รอดคดีอาญา

ข่าวดราม่าที่ผู้ก่อเหตุเผยว่าเป็นโรคจิตเวช คนมักจะมองว่า “หงายการ์ดป่วย” โกหกว่าป่วยเพื่อเอาตัวรอด เพราะเข้าใจผิดว่าใครทำให้ศาลเชื่อว่าป่วยจิตเวช แล้วศาลจะให้พ้นผิดไปเลย เนื่องจากสังคมไทยยังเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยจิตเวชคือคนบ้า และเชื่อว่ากฎหมายบอกว่าคนบ้าทำอะไรก็ไม่ผิด กรณีแบบนี้คนจึงพากันโกรธแค้นเพราะนึกว่าเขาจะไม่ต้องรับโทษจริงๆ ความเชื่อคนบ้าทำอะไรไม่ผิด เกิดจากคนส่วนใหญ่เห็นข่าวแบบนี้เฉพาะตอนเกิดเหตุเป็นดราม่าว่าอ้างป่วยจิตเวชแล้วทำอะไรก็ไม่ผิด แต่ตอนศาลพิพากษาลงโทษข่าวจะเงียบ ทุกคดีความจำของสังคมจึงสรุปตามดราม่าว่าศาลยกโทษเสมอ ทั้งที่จริงๆแล้วศาลลงโทษทุกที จริงๆกฎหมายอาญาไม่ได้ระบุให้เว้นโทษกับผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่ง  มาตรา 65 บอกว่าเฉพาะกรณีที่ขณะกระทำความผิด จำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ (ที่เรียกกันว่าวิกลจริต) จึงจะไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นเมื่อผู้ก่อเหตุเผยว่าเป็นโรคจิตเวชใดๆก็ยังไม่มีผลอะไร นอกจากจะทำให้สังคมเกลียดเขามากขึ้นจากความเข้าใจผิดข้างต้น การโกหกให้ศาลไทยเชื่อว่าวิกลจริตขณะก่อเหตุ แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะนอกจากจะต้องหลอกจิตแพทย์แล้ว ศาลไทยก็ไม่ได้ฟั

ฉันกำลังดีเพรสหรือเปล่า หรือฉันกำลังแมเนีย

เวลาพบหมอ มันสำคัญมากที่เราจะต้องสามารถสื่อสารว่า ช่วงที่ผ่านมาเราอาการเป็นไง สัปดาห์ไหนปกติ สัปดาห์ไหนดีเพรสบ้าง และ (สำหรับไบโพลาร์) สัปดาห์ไหนแมเนียหรือเปล่า. เมื่อเข้าใจโรคเพียงคร่าวๆ คนมักจะคิดว่าดีเพรสคือเศร้านานๆ แมเนียคือรู้สึกดีหรือก้าวร้าวนานๆ ซึ่งถูกเพียงส่วนเดียว. เมื่อเข้าใจนิยามของอาการเหล่านี้ไม่ตรงกับหมอ เวลาเราเล่า หมอก็จะเข้าใจอาการไม่ตรงกันเรา. ผลคือหมอก็จะปรับยาผิด เพราะเข้าใจอาการผิด เช่นเราดีเพรสอย่างเดียวมานานแล้ว แต่วีนแฟนบ่อยเพราะปัญหาชีวิตคู่. เราเล่าอาการทีไรหมอก็คิดว่าแมเนีย เลยให้แต่ยาคุมอารมณ์. ความเข้าใจผิดแบบนี้ทำให้การรักษาไม่คืบหน้า เพราะยาไม่ช่วยให้อาการหายหมดสักที จนบางคนท้อกับการรักษา. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ เราต้องเข้าใจอาการของโรคตรงกับนิยามที่หมอใช้. เมื่อสื่อสารกับหมอได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาก็จะก้าวหน้า เราก็จะมีอาการน้อยลง และสามารถใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้นเรื่อยๆ.

วอนใช้คำให้ถูก โรคไบโพลาร์ไม่ใช่ที่เห็นในสื่อและละคร

วันนี้ 30 มีนาคม 2561 เป็น วันไบโพลาร์โลก  วันที่เราชวนให้โลกหันมาทำความรู้จักโรคไบโพลาร์¹ เพื่อกำจัดตราบาปในสังคม บ้านเรามีตราบาปโรคนี้ที่ไม่เหมือนที่อื่น เราใช้ชื่อไบโพลาร์เป็นคำด่านักการเมือง หรือคนที่เรากลียดชนิดไม่มีคำไหนสื่อระดับความเลวได้  เพราะหลักสูตรเราไม่ได้สอนเรื่องโรคจิตเวชกับเด็กๆ พอคนเห็นชื่อไบโพลาร์แปลว่าสองขั้ว ก็คิดเอาเองว่าคนป่วยจะเป็นคน ① สองบุคลิก วันนึงเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ② สองหน้า โกหกพลิกไปมาหน้าตาเฉย ③ เอาแต่ใจ ขี้วีน คุมตัวเองไม่ได้ ④ เสพติดความรุนแรงแบบฆาตกรโรคจิต ซึ่งทั้งหมดอาจจะเป็นโรคจิตเวชก็ได้ แต่เป็นโรคอื่นที่ไม่ได้ใกล้เคียงกับไบโพลาร์สักนิด โรคไบโพลาร์ ในทางการแพทย์คือ ในทางการแพทย์ โรคไบโพลาร์   เป็น โรคทางสมอง ² ที่ทำให้มี บางเดือนเปลี่ยนไปแบบทุกวันหมดพลัง ท้อแท้ (เหมือนโรคซึมเศร้า) บางสัปดาห์/เดือนเปลี่ยนไปแบบทุกวันพลังล้นไฮเปอร์ มั่นใจเกินร้อย ช่วงที่เหลือ (เวลาประมาณ 50%³) ก็ปกติเหมือนตอนก่อนป่วย ความผิดปกติของสมองผู้ป่วยไบโพลาร์ ก็เหมือนคนเป็นไมเกรนไม่ได้ปวดหัวตลอดเวลา เขาจะปวดเฉพาะเวลาอาการกำเริบ สำหรับไบโพลาร์ช่วง 1 และ 2

ถ้าอยากหาย อย่าอยากหายเร็วๆ ให้คิดแบบนี้แทน

โรคเรานั้นรักษาไปก็หาย แต่ความที่มันทรมาน เราก็มักจะอยากหายเร็วๆ แต่มันไม่ใช่แค่หวัดที่จะหายได้ในไม่กี่วัน แม้อาการบางอย่างเช่นนอนไม่หลับอาจจะดีขึ้นเร็ว แต่อาการดีเพรสกว่าจะดีขึ้นก็เป็นเดือน ถ้าเราอยากหายเร็วๆมันจะทรมานสุดๆ จนสุดท้ายบางคนจะยอมแพ้ไปก่อน ฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็เลิกรักษา ทั้งที่อาการก็ดีขึ้นแล้ว และถ้ารักษาต่อไปก็จะหายแน่ๆ แต่การรอคอยนั้นทรมานเกินไป ก็เลยหยุดยาเอง แล้วก็ได้พบกับนรกที่แย่กว่าอาการตอนแรกเสียอีก แล้วก็วนกลับมาเริ่มต้นรักษาใหม่ แต่คราวนี้ยาตัวเดิมอาจไม่ได้ผลเหมือนเก่า การรอคอยนั้นทรมานกว่าอาการของโรค ถ้าเรารอคอยนับวันเมื่อไหร่จะหาย แต่ละนาทีจะยาวนานเหมือนเวลาเดินช้ามาก ความทรมานส่วนนี้จะมากกว่าอาการของโรคทีแรกเสียอีก เหมือนไม่ใช่แค่รอคอยเฉยๆ แต่มีไฟลนหัวใจเราไปด้วย โชคร้ายที่เราจะแยกไม่ออกว่า ความเจ็บปวดส่วนไหนคืออาการของโรค ส่วนไหนมาจากการรอคอย ต่อเมื่อเลิกรอคอยแล้วเราจึงจะเห็นกับตา เมื่อความทรมานหายไป แต่มันยากสุดๆที่ใครจะเชื่อว่าการอยากหายนั้นเป็นโทษ เพราะความอยากหายนั้นเป็นคอมมอนเซนส์มากๆ แล้วมันก็เวิร์กในกรณีทั่วไปด้วย “ต้องอยากได้อันนั้นสิ ถึงจ

กลยุทธ์การคืนสู่สุขภาวะของป้าหนู

Pa Noo's Recovery Strategy โดยป้าหนู รัชนี แมนเมธี ป้าหนูขอแบ่งกลยุทธ์เป็น 4 ช่วงเวลาดังนี้ พ.ศ. 2545–2547 : ช่วงเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2548–2558 : ช่วงปานสายใยแห่งรัก พ.ศ. 2559–2566 : ช่วงประจักษ์ตัวตน พ.ศ. 2567 - หมดลมหายใจ : ช่วงค้นพบตัวเอง 1. ช่วงเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2516 ป้าเริ่มสอนหนังสือ พอถึง พ.ศ. 2545 ป้าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า กว่าจะได้เข้ารับการรักษา ปี พ.ศ. 2546 ปี 2546 ปลายๆหมอบอกป้าหายป่วย แต่ป้ายังรู้สึกชีวิตมืดมน 1 เม.ย. 2547 ป้าได้เกษียณก่อนกำหนด ( Early Retire ) เป็นวันแรก 2. ช่วงปานสายใยแห่งรัก ป้าได้มีโอกาสเรียนรู้ และเป็นกรรมการสมาคมสายใยครอบครัว ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ป้ามีความสุขมาก เพราะได้ฟื้นพลังชีวิต ป้าได้เห็นคุณค่าในตนเองมาก 3. ช่วงประจักษ์ตัวตน ป้าได้นำประสบการณ์ช่วงที่ 2 และประสบการณ์ที่มีมาตั้งแต่เดิมมาใช้ประโยชน์ในการทำงานเพื่อส่วนรวมได้มากมายมหาศาล 4. ช่วงค้นพบตนเอง ป้าตกผลึกชีวิตตนเองเรียบร้อย เพราะได้ประจักษ์ตัวตนของตัวเอง รู้ว่าตนมีจุดแข็ง - จุดอ่อน, มีโอกาส - ถูกคุกคาม อะไรอย่างไร เห็นคุณค่าและภูมิใจในตนเองว่าสามารถทำประโยชน์ให้มนุษยชาติได้อย่างไรมากที่สุดตาม