ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ทำไงดี

two roadsเหมือนชีวิตกำลังเล่นปิงปองกับเรา ตีลูกยากง่ายใส่เราตลอดเวลา เรื่องกวนใจ ปัญหา ความสูญเสีย. บางคนเจอปัญหาแล้วจมอยู่ตรงนั้น ประทัวง “ลูกยากไม่เล่น”. บางคนยากง่ายรับหมดเต็มที่ เจอลูกยากอาจล้มเข่าถลอกแต่รีบลุกเล่นต่อ. ทำได้ไงอะ?

ชัยจะต้องพรีเซ็นต์หัวข้อแรกตอนเช้าในงานสัมมนาของผู้บริหารหลายองค์กร. เช้านี้รถติดสาหัส. เขาร้อนใจจึงโทรไปบอกผู้จัดว่ากำลังจะถึง ให้เตรียมที่จอดรถไว้ให้เพราะปกติจะเต็ม. เกือบเฉี่ยวชนหลายหน แต่รถเขาก็ถึงสถานที่ตรงเวลาพอดี. เขาพารถไปโซน VIP ช่องที่มีเลขทะเบียนรถเขา แต่ยามไม่ให้จอด. เหลือเชื่อตัวเลขผิดไปหลักนึง. ยามให้วนขึ้นไปจอดในอาคาร บอกดาดฟ้ามีที่ แต่เขาไม่มีเวลาแล้ว. มันไม่ถูก เขาเถียง ช่องนี้เตรียมไว้ให้เขา ไม่ยุติธรรมเลย. รถข้างหลังต่อแถวยาวขึ้นๆ. เขายิ่งเถียงเสียงดังขึ้นๆ เลขผิดนิดเดียว เขาจอดโซนนี้ประจำ เจ้านายคุณรอเขาอยู่ ฯลฯ แต่ยามไม่ฟัง.

ชีวิตเรามีปัญหาตลอด

ในชีวิตเราจะพบกับปัญหาที่แก้ไม่ได้ และความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องการ อยู่ตลอดเวลา. แต่เราพยายามมองไม่เห็นมัน. ถ้าเรื่องเล็กเราก็แค่สะสมความเครียด. เช่นเวลาหาของไม่เจอ, เพื่อนทำไม่ถูกใจ, โดนดูถูก ฯลฯ. ถ้าเรื่องใหญ่อาจทำให้เราท้อ ก้าวร้าว หรือทำร้ายตัวเอง. เช่นเวลาแฟนทิ้ง, สัตว์เลี้ยงตาย, ถูกใส่ร้าย ฯลฯ. ถ้าผ่านมันไปไม่ได้ ความสุขจะหายไปจากชีวิตเรา หรือลามไปถึงครอบครัว. ถ้าสังเกตรอบตัวเราจะพบว่า มีบางคนเมื่อเจอปัญหาแล้วสามารถผ่านไปได้เร็ว. บางทีเข้มแข็งขึ้นด้วย. พวกเขาเข้มแข็งกว่าคนอื่นหรือเปล่า? เปล่า. แต่เขามีทัศนคติต่อชีวิตต่างไป. 

ปกติเราจัดการกับปัญหาอย่างไร

เมื่อเจอกับปัญหาที่เจ็บปวด เราจะมีอยู่ 4 ทางเลือก ไล่ไปตามลำดับ:-

  • แก้ปัญหา
  • เปลี่ยนมุมมอง
  • ยอมรับมัน
  • ทรมานต่อไป

    เริ่มต้นถ้าประเมินว่าเราสามารถแก้ได้ เราก็จะลงมือ (1) แก้ปัญหา. แต่บางปัญหาต้องใช้เวลาแก้นาน หรือเราพยายามแล้วล้มเหลว หรือแย่ที่สุดคือไม่มีทางแก้ได้ เช่นเป็นอะไรที่สูญเสียไปแล้วเอาคืนไม่ได้ หรือต้องให้คนอื่นแก้หรือเปลี่ยนแปลง. แบบนี้ปัญหาจะยังคงอยู่กับเรา แต่เนื่องจากมันทำให้เราเจ็บปวด เราจึงพยายาม (2) เปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกต่อมัน เช่นหาวิธีอธิบายมันใหม่ หรือหาข้อดีจนชอบมันได้. จะเห็นว่า 2 ข้อแรกคือการทำให้หมดปัญหา แต่หากมันแก้ไม่ได้ และไม่มีข้อดี หรือมีน้อยเมื่อเทียบกับข้อเสีย แปลว่าปัญหาจะต้องอยู่กับเราถาวร. เราจะเหลืออีก 2 ทางเลือกคือ (3) ยอมรับมัน กับ (4) ทรมานต่อไป.

    มันยากที่จะยอมรับสิ่งที่เราไม่อยากให้เป็นจริง แต่มันคือความจริงอย่างที่เป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน. เนื่องจากปัญหาทำให้เราทุกข์  (โกรธ กลัว เสียใจ ท้อ) เราเกลียดทุกข์ เราจึงไม่อยากยอมรับปัญหา. อย่างกับไม่ยอมรับแล้วจะไม่ทุกข์ ก็ทุกข์อยู่ดี. พอไม่ยอมรับ ในหัวเราจะคิดวนเวียน อาลัยอดีต โหยหาอนาคต ไม่สามารถทนอยู่กับปัจจุบันได้. เพราะเราเกลียดความจริงในปัจจุบัน ทำให้เราเพิ่มความทรมานให้ตัวเองอีกอย่าง. เมื่อไม่ยอมรับก็คือเราเลือก (4) ทรมานต่อไป ก็เหมือนเวลาเราเกลียดแผล ก็เลยเปิดดูแผลแกะมันเรื่อยๆ เพราะรับไม่ได้ที่มันอยู่ตรงนั้น เลยยิ่งไม่หายหรือลามกว้างขึ้น.

    แต่ถ้าเราเลือก (3) ยอมรับมันได้ทั้งปัญหาและความทุกข์จากปัญหา เราก็จะผ่านมันไป. มันยังคงเป็นปัญหา แต่ไม่คอขาดบาดตายสำหรับเราแล้ว. ปัญหาส่วนใหญ่ เช่นการสูญเสียอะไรที่รักหรือถูกโกง เพียงแค่เรายอมรับมันได้จริงๆ ความทุกข์ก็จะหายไปเกือบหมด. ปัญหานอกนั้น เช่นเป็นโรคร้าย ติดคุก หรือหมดตัว เมื่อเรายอมรับมัน ความทุกข์จะยังอยู่ แต่เราจะไม่ทรมานอีกต่อไป. เพราะ ความทรมาน คือ “ไม่อยากเป็นอย่างนี้”. เมื่อเราเลิกต่อสู้กับความจริง เราบอกว่า “อย่างนี้ก็โอเค” เราจะเหลือแต่ความทุกข์จากปัญหาล้วนๆ ไม่ทรมาน ซึ่งจะพอรับได้ง่ายขึ้นมาก. แล้วจากนั้นแผลก็จะเริ่มเยียวยาตัวเองจนหายสนิท.

    ทำไมเราไม่ยอมรับปัญหา

    ถ้าตัดสินใจด้วยเหตุผล ทุกคนควรจะเลือก (3) ยอมรับมัน. แต่ในความเป็นจริง เรามักจะเต็มใจเลือกทางเลือกที่โง่ (4) ทรมานต่อไป. นานเท่าไรขึ้นอยู่กับว่าเรารักตัวเองน้อยเพียงใด. เมื่อเราสงสารว่าตัวเองทรมานพอแล้ว เราก็จะเลือก (3) ยอมรับมันแทนเสมอ แล้วก็จบ ผ่านมันไปได้. แม้คนที่เลือก (4) ยังไงสักวันนึงก็จะต้องเลือก (3) แน่นอนไม่เร็วก็ช้า (ยกเว้นบางคนที่ยอมทรมานไปตลอดชีวิต หรือทนทรมานไม่ไหวเลยจบชีวิตตัวเอง.)

    ถ้าเราเห็นแก่ตัวเอง ทำไมไม่เลือกยอมรับมันเร็วๆ? เหตุผลต่อไปนี้ดูเหมือนจะสมเหตุสมผล แต่เป็นเพียงข้ออ้าง รู้จักจดจำเอาไว้ เวลามันโผล่ขึ้นมาจะได้เถียงมันชนะ:-

  • “ยอมรับมัน คือเห็นชอบกับมัน.”  เช่นถ้ายอมรับที่ถูกแฟนนอกใจ คือเห็นชอบที่เขาทำ? ความจริงเรายอมรับปัญหา โดยที่ไม่เห็นชอบกับปัญหาอยู่ตลอดเวลา. เช่นเจอถนนขรุขระ เรายอมรับปัญหาแล้วขับช้าลง แต่เราไม่ได้เห็นชอบที่เทศบาลทำถนนแย่แบบนี้. ถ้าเราไม่ยอมรับ เราจะขับเร็วเท่าเดิม เครียดที่รถจะพัง และด่าโทษเทศบาลไปตลอดทาง.
  • “เป็นไปไม่ได้ ฉันรับไม่ได้ ถ้าฉันยอมรับแล้วมันจะเป็นจริง.” เช่นถ้ายอมรับที่หมาตัวโปรดตาย แล้วจะไม่ได้เจอมันอีก. ความจริงเราจะยอมรับหรือไม่ มันก็เป็นไปแล้ว. หลับตาไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไป. การต่อสู้กับความจริงนั้นเจ็บปวดและเหนื่อยเปล่า ไม่มีทางชนะ.
  • “ปัญหาเกิดจากเขา ฉันทรมานเพราะเป็นเหยื่อ.” เราคิดว่าต้องทรมานต่อไป เพื่อให้โลกเห็นชัดว่าเขาผิด. ความจริง ยอมรับ ไม่ได้แปลว่าเห็นชอบ เช่นเราถูกสรรพากรปรับว่าโกงภาษี ทั้งที่สุจริต แทนที่เราจะตอบโต้ ไม่จ่ายค่าปรับเพราะต้องพิสูจน์ “ฉันไม่ผิด เขาผิด” เป็นคดีความอีกหลายปี เราเลือกยอมรับปัญหาที่ว่าสรรพากรคำนวณภาษีผิด (ปัญหาใม่ใช่คือเราโกงภาษี) เรายอมจ่ายค่าปรับ แล้วทำเรื่องชี้แจงข้อมูลเพื่อเอาเงินนั้นคืน. จะเห็นว่าเรายอมรับปัญหาที่ถูกปรับ ไม่ได้เห็นชอบกับข้อกล่าวหา. เราตัดสินใจให้เป็นประโยชน์กับตัวเองที่สุด ไม่ใช่ให้เป็นโทษกับเขาที่สุด.
  • “มันไม่ยุติธรรม.” ความคิดว่าโลกมีความยุติธรรมเป็นความเข้าใจผิดแบบเด็กๆ. เราอยากให้โลกเป็นอุดมคติแบบนั้น. ความจริงประสบการณ์ทุกคนก็บอกว่า โลกไม่มีความยุติธรรมโดยธรรมชาติ. เราจึงคาดหวังว่าโลกจะยุติธรรมกับเราไม่ได้. เราจะเถียงกับโลกว่า “มันไม่ยุติธรรม” ก็ไม่เกิดประโยชน์. โลกเป็นแบบนี้กับทุกคน ทุกคนจึงรู้สึกแบบนี้ เพียงแต่สลับกันไปมาตามแต่ว่าใครได้หรือเสีย. นึกภาพสินค้าที่มีคนขาย 2 รายเสนอให้ลูกค้าราชการ สองรายนี้จะมองความยุติธรรมตรงข้ามกันเสมอ แล้วแต่ว่าใครขายดีลนั้นได้. โลกไม่สามารถทำให้ยุติธรรมทั้งสองรายพร้อมกัน. 
  • “ถ้าฉันยอมรับ มันจะไม่ถูกแก้ไข.” ความจริงประโยคนี้ตรงข้าม. ถ้าเราไม่ยอมรับอะไร แล้วสิ่งนั้นจะถูกแก้ไขได้ไง? เช่นถ้าเราไม่ยอมรับว่าอ้วน โดยการไม่ดูกระจก ไม่ชั่งน้ำหนัก ใส่เสื้อผ้าไซส์เดิม ความอ้วนจะไม่ถูกแก้ไขแน่นอน. สมมุติแฟนเราลืมของที่ฝากซื้อเสมอ ถ้าเราไม่ยอมรับว่าแฟนขี้ลืม เราก็จะฝากเหมือนเดิมทุกครั้ง แล้วทะเลาะกันว่าทำไมเขาไม่ยอมจำ. เมื่อเรายอมรับ เราก็จะแก้ได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น เขียนโน้ต, ส่งเมสเสจ, โทร หรือซื้อเอง.

    ทางออกคือ “ยอมรับจากข้างใน”

    “ยอมรับจากข้างใน (radical acceptance) คือ ปล่อยวางการต่อสู้กับความจริง. คำว่าจากข้างในหมายความว่า การยอมรับนั้นต้องมาจากส่วนลึกข้างใน และเป็นไปอย่างหมดสิ้นสมบูรณ์” — Marsha M. Linehan.

    ยอมรับจากข้างในเป็นทักษะที่มาจากวิธีจิตบำบัดแบบ DBT (dialectical behavioral therapy). มันเป็นแนวคิดที่รู้จักกันดีในวัฒนธรรมของคนทั้งตะวันตกและตะวันออก ในชื่อต่างๆ เช่น let go, let it be, ปล่อยวาง, ช่างมัน, ให้มันแล้วไป, กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก  ฯลฯ. เนื่องจาก Linehan (ซึ่งเป็นชาวคริสต์เคร่งศาสนา) พัฒนา DBT จากพุทธศาสนานิกายเซน ส่วนใหญ่จึงดูคุ้นเคยสำหรับคนไทย. แต่ฟังดูง่ายกับทำเองได้เป็นคนละเรื่อง. การยอมรับจากข้างในเป็นทักษะที่ไม่ได้มาง่ายๆ ไม่ใช่อ่านจบแล้วจะทำได้. เราต้องฝึกบ่อยๆ ชอบมัน พยายามทำตลอดเวลา ก็จะชำนาญขึ้นเรื่อยๆ. ร่วมกับฝึกสติความรู้สึกตัวให้อยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น. เมื่อยิ่งชำนาญขึ้นๆ ความทุกข์ก็จะน้อยลงๆ.

    ปรับทัศนคติ

    เข้าใจว่าทุกสิ่งสมเหตุสมผลแล้วที่เป็นแบบนี้

    ยอมรับว่าทุกสิ่งทุกเหตุการณ์มีเหตุผล. ไม่ต้องมัวถามว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน.” ไม่ต้องฝันลมๆแล้งๆว่า “มันไม่ควรเป็นแบบนี้.” เพราะมันได้เกิดขึ้นแล้ว และทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม. ถนนขรุขระเพราะเทศบาลรับสินบน. สรรพากรเขตคำนวณภาษีผิด เพราะสรรพากรบีบยอด เพราะรัฐบาลต้องการรายได้. หมาตายเพราะพยาธิหัวใจ. แฟนนอกใจเพราะตกหลุมรักคนใหม่. ทุกสิ่งสมเหตุสมผลที่เป็นแบบนี้ แม้ว่าจะไม่ถูกใจเราก็ตาม.

    เวลาเจอปัญหา เราก็ถามตัวเอง “มันเกิดมาจากอะไร?” “ทำไมเป็นแบบนี้?” แต่หากเราไม่รู้เหตุผล ก็ต้องเข้าใจว่ามันต้องมีเหตุผล เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้น. เมื่อเรารู้ว่ามันมีเหตุ แล้วเราจะยอมรับได้ว่า มันจำเป็นต้องเป็นแบบนี้จริงๆ. เพราะเมื่อมีเหตุ มันจึงต้องเกิดผลแบบนี้ ต่อให้เวลาย้อนกลับไป มันก็จะเกิดแบบเดิม. ถ้าเราไม่อยากให้มันเกิด มันก็ต้องไม่มีเหตุ ซึ่งตอนนี้มันก็ปลายเหตุแล้ว แก้ไขไม่ได้อยู่ดี. ดังนั้นทุกเรื่องที่เป็นอยู่ตอนนี้ จำเป็นที่จะต้องเป็นแบบนี้. มันแค่ขัดใจเราเท่านั้น. ส่วนที่ขัดใจเราอาจจะถูกใจคนอื่นก็ได้. โลกไม่ได้มีหน้าที่เอาใจเราอยู่คนเดียว. มันแค่ดำเนินไปตามเหตุผล.

    ยอมรับว่าชีวิตมีค่าเสมอ

    มีบางปัญหาที่เจ็บปวดที่สุด จนเรารู้สึกว่าชีวิตจะดำเนินต่อไปไม่ได้แล้ว. เราสงสัยว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร หรือทำไม. สถานการณ์เช่น แฟนทิ้ง, หมาตัวโปรดตาย, เป็นโรคร้ายแรงระยะสุดท้าย, เป็นแพะติดคุก, เป็นหนี้มหาศาล ฯลฯ. สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้เลย ก่อนจะเจอปัญหาแบบนั้น คือยอมรับว่าชีวิตยังคงมีค่า แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด. มันจะง่ายขึ้น ถ้าเรารู้ว่าชีวิตเรามีหน้าที่อะไร ถ้าเรามีเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม. เพราะเช่นนั้นปัญหาอะไรก็ทำให้เราไม่รู้จะอยู่ไปทำไมไม่ได้แล้ว เพราะเรามีคำตอบถาวรอยู่.

    จากนั้นสำหรับเราจะมีแต่ปัญหา ไม่มีหายนะ. จะไม่มีปัญหาไหนที่เรารับไม่ได้. ไม่ว่าเราจะเจอสถานการณ์ยากลำบากเพียงไร เราจะตัดสินใจที่จะสร้างชีวิตที่มีค่าขึ้นมาจากสิ่งที่เหลืออยู่ตรงนั้นเสมอ. ชีวิตมีค่าเสมอแม้ว่าจะมีปัญหาร้ายแรงขนาดไหน. ไม่มีอะไรที่เราขาดไม่ได้ นอกจากชีวิต. ถ้าต้องการแรงบันดาลใจ หาหนัง survial ที่มาจากเรื่องจริงอย่าง 127 Hours และ The Pianist แล้วดูโดยรู้สึกว่าเราคือเขา. พอถึงตอนวิกฤตนั้นเราจะรู้สึกยังไง ยอมแพ้ไหม (คือตาย). ถ้ายอมแพ้ หามุมมองที่เราจะเลือกสู้ต่อไปเหมือนเขา.

    ฝึกทักษะ

    พูดกับความเป็นจริงในปัจจุบันว่าโอเค

    การยอมรับ คือการผ่อนคลายทั้งกายและใจ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตั้งแต่หัวจรดเท้า อมยิ้มน้อยๆ. ปล่อยวาง ช่างมันทุกอย่าง แล้วพูดกับความเป็นจริงในปัจจุบันว่า “โอเค” (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “yes”. อีกคำที่น่าจะใช้ได้คือ “ได้”) เราบอกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ฉันโอเคหมด ฉันรับได้หมด. จะไม่ชอบก็เถอะ แต่โอเค เต็มใจ. เหมือนหลังจากทะเลาะกับเพื่อน พอคืนดีกันแล้วเราบอกเขาว่า “นายก็โอเคนะ” คือเราไม่ได้เกลียดเขาแล้ว. เราสามารถฝึกโดยทุกคืนออกไปข้างนอก มองดูดาวบนท้องฟ้า แล้วบอกความเป็นจริงในปัจจุบันว่า “โอเค”2 ครั้ง. ปัญหาที่เรายอมรับไม่ได้จะคอยเถียง “ไม่” และดึงเราไว้ไม่ให้ยอมรับ. กล้ามเนื้อจะเกร็งขึ้นมา รู้สึกแย่ในใจ. ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติ ต้องใช้เวลา. ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ. เป็นแบบนั้นเราก็แค่เริ่มต้นผ่อนคลายตั้งแต่ต้นใหม่.

    รู้จักความรู้สึกยอมรับ

    การยอมรับเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยจนบางทีนึกไม่ออก. มันจะง่ายขึ้นถ้าเรารู้จักความรู้สึกยอมรับแต่แรก จะได้รู้เวลาที่พบมัน. เหมือนเราจะไปสถานที่ใหม่ หรือนัดเจอใครใหม่ จะหาเจอง่ายขึ้นถ้าเราเคยเห็นภาพเป้าหมายก่อน. เราทุกคนต้องเคยผ่านความรู้สึกยอมรับมานับครั้งไม่ถ้วน เพราะถ้าเราไม่มีความรู้สึกนี้ก็จะวิกลจริตไปแล้ว. ตัวอย่างเช่น:-

    1. ตอนเล็กๆเวลาปวดฟันเป็นเรื่องใหญ่มาก รับไม่ได้เหมือนโลกแตก ตีโพยตีพาย. พอโตขึ้น ทุกครั้งที่ปวดเราจะมีทางเลือก 2 ทาง คือยอมรับกับทรมาน. เรารู้ว่าถ้าเรายอมรับ เราจะปวดโดยไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ พอทนได้ ทุกข์โดยไม่ทรมาน. แต่ถ้าปฏิเสธเราจะทรมานมาก โวยวาย เหมือนสมัยเล็กๆ. เมื่อรู้ว่ามีทางเลือก ผู้ใหญ่จึงมักจะเลือกยอมรับเพราะสบายกว่า เพราะรู้ว่าอีกทางทรมานกว่า. เราจึงไปหาหมอฟันโดยไม่ต้องกระทืบเท้าน้ำตานองหน้า. นึกถึงความรู้สึกตอนที่ปวด แต่ยอมรับมันได้ ไม่เกลียดขับไล่ไสส่งมัน ปวดแต่โอเคที่ต้องรอถึงวันนัดหมอ. นี่คือความรู้สึกยอมรับ เปิดกว้าง โอเคทุกอย่างกับปัจจุบัน. เราควรจำความรู้สึกนี้ได้ดี สามารถดึงมันกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้.
    2. เราเคยสูญเสียสิ่งที่รัก เสร็จแล้วเราจะรับไม่ได้อยู่พักนึง ฟูมฟายจนทำอะไรไม่ได้. แต่ถึงจุดนึงเหมือนอยู่ดีๆ เราก็หาย ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตต่อ. จุดนั้นเรามีการตกลงใจจากข้างในว่า “โอเคฉันยอมรับแล้วว่าเสียสิ่งนั้นไป.” เรายังคงไม่ชอบ แต่เราโอเคกับมัน. นั่นคือความรู้สึกยอมรับ. ลองนึกกลับไปหลายๆเหตุการณ์ทำนองนี้ ที่ตอนนั้นเราคิดว่าไม่รู้จะอยู่ต่อไปยังไง แล้วสังเกตว่าความคิดนั้นมีกี่ครั้งที่เป็นจริง? ไม่มีเลย.

    หันใจ

    มาถึงทักษะที่สำคัญที่สุด เพราะการยอมรับจากข้างในไม่ใช่อะไรที่เราทำครั้งเดียวจบ แต่ต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีก. ให้นึกภาพเรากำลังเดินไปตามถนนแล้วก็เจอทางแยกซ้ายขวา เดินไปก็เจอแยกแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก. ทางซ้ายคือ (3) ยอมรับความเป็นจริง สบายกว่า. ทางขวาคือ (4) ปฏิเสธความเป็นจริง ทรมานต่อไป. การหันใจคือการที่เราเปลี่ยนใจตัวเองไปทางยอมรับหนึ่งครั้ง ซึ่งไม่ง่ายเลย.  เราต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีก. แต่ทำไปแล้วเราจะค่อยๆติดใจ เพราะเมื่อยอมรับมากขึ้น เราจะทรมานน้อยลง. ความเครียดสะสมจะหายไป. เราจึงชอบทำมันมากขึ้นๆ. ขั้นตอนในการหันใจคือ

    1. สังเกตตัวเองว่ากำลังไม่ยอมรับหรือเปล่า. เช่นกำลังโกรธ ขุ่นมัว รำคาญไหม? เอาแต่ถามว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมเป็นอย่างนี้”? ไม่ยอมรับว่ามีความรู้สึกนั้นๆต่อสิ่งนั้น? หลีกหนี หลบซ่อนอยู่หลังที่กำบัง? เมื่อเราตรงไปตรงมาเปิดเผยความรู้สึกกับตัวเองไม่ได้ เรากำลังปฏิเสธความเป็นจริง.
    2. หันใจ คือตัดสินใจเลือกที่จะยอมรับ. มันเหมือนกับเราได้เตรียมหนังสือสัญญาว่าจะยอมรับความเป็นจริง. ถึงขั้นนี้เราคิดถี่ถ้วนดีแล้วก็ตัดสินใจเซ็นสัญญา ว่าเราตั้งใจจะไปทางนี้. แต่ไม่จำเป็นต้องให้ได้ 100% แค่เรามีความตั้งใจไป. นี่คือการหันใจไปทางยอมรับ.
    3. ทำซ้ำอีก. เราจะพบว่าบางที สำหรับปัญหาหนัก เราอาจต้องหันใจซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายหนในหนึ่งนาทีหรือหนึ่งวัน. ก็ทำไปเรื่อยๆ. ถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้สึกว่าเราเลือกได้ เราจะรู้สึกเริ่มชอบหันใจ เพราะสบายกว่า. พอสังเกตว่าตัวเองทรมาน เราจะหันใจทันที.

    การหันใจ ไม่ใช่การยอมรับจากข้างใน แต่เป็นการเลี้ยวครั้งหนึ่ง ขณะเดินทางไปสู่จุดเป้าหมายอุดมคตินั้น. เรารู้จักการยอมรับจากข้างใน เพื่อรู้จักเป้าหมาย ไม่ใช่เพื่อทำให้ได้ในทันที ซึ่งเป็นไปไม่ได้. สิ่งที่เราทำคือหันใจทุกครั้งที่ไม่ยอมรับ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เราหายทรมานจากปัญหานั้นตลอดไป. แต่มันทำให้เราหายทรมาน ณ เวลานี้ คือปัจจุบัน. แปลว่าวัน (หรือนาที) หลังเราอาจปฏิเสธความเป็นจริง แล้วทรมานจากปัญหานั้นอีก แต่เราก็แค่หันใจใหม่เท่านั้น. ทำบ่อยๆแล้วเราจะทำได้ง่ายและเร็วขึ้นเรื่อยๆ. แต่เนื่องจากทักษะทุกอย่าง ถ้าไม่ใช้บ่อยๆก็จะฝีมือตก. ถ้าไม่ค่อยหันใจ เราก็อาจจะหันใจยากและช้าลง หรือไม่ทำเลยก็ได้. ถึงตรงนั้น เราก็แค่กลับมาหันใจใหม่เท่านั้น. มันจึงสำคัญที่ต้องทำบ่อยๆ ก็เหมือนทักษะอื่นๆ.

    เต็มใจ หรือ เอาแต่ใจ

    เรารู้จักการหันใจกันแล้ว คราวนี้มาดูรายละเอียดถนนสองสายนั้น. สายยอมรับเรียกว่าเต็มใจ (willingness). สายปฏิเสธเรียกว่าเอาแต่ใจ (willfulness). เต็มใจเริ่มจากการยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เชื่อมโยงกัน. เราไม่ได้เป็นอิสระเอกเทศอย่างที่รู้สึก. เต็มใจคือการที่เรายอมให้โลกเป็นอย่างที่เป็น ไม่ว่ามันจะเป็นยังไง เราตกลงที่จะร่วมมืออย่างเต็มที่ ลงเล่นในสนามชีวิต. เราจะทำสิ่งที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืนเท่าที่ทำได้.

    เอาแต่ใจคือตรงข้ามกับเต็มใจ. เราลืมว่าเราเป็นส่วนนึงของโลก ลืมความเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ. เราโห่ใส่ความเป็นจริงในปัจจุบันว่า “ไม่ เอา”. เราปฏิเสธสนามชีวิต ออกไปนั่งบูดบึ้งอยู่ขอบสนาม หรือพยายามป่วน. เราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ตัวเราเองแล้ว. เราทำลายประโยชน์ของตัวเองแทน. ลองนึกภาพว่าชีวิตก็คือการเล่นไพ่. เริ่มต้นเจ้ามือสับไพ่แล้วแจกให้ทุกคนเท่ากัน คนนึงดูไพ่ปรากฏแต้มห่วยมากเลยโวย “ฉันไม่ชอบไพ่ฉัน เจ้ามือแจกใหม่.” เราบอก “ก็นั่นเป็นไพ่ที่เธอได้.” เขาบอก “ฉันไม่สน มันไม่ยุติธรรม ฉันไม่เล่นไพ่แบบนี้หรอก.” เถียงกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น. เราจะคิดยังไง? อยากเล่นกับเขาไหม? แล้วคิดว่าใครจะเล่นไพ่ชนะ? แน่นอน ต้องเป็นคนที่เต็มใจเล่นไพ่ที่ได้รับ. อาจเป็นคนที่บอก “ไพ่ไม่ได้เรื่องเลย แย่จัง” ก็ได้. แต่คนที่เอาแต่ใจจะไม่ได้อะไรเลย.

    เต็มใจคือการโอเคกับสิ่งที่ชีวิตโยนใส่เรา ไม่ว่าจะได้อะไรมาดีไม่ดี ชอบไม่ชอบ เราจะใช้มันให้เกิดประโยชน์มากที่สุด. เอาแต่ใจคือเมื่อชีวิตโยนสิ่งไหนใส่เรา ถ้าเราชอบก็เอาด้วย ถ้าไม่ชอบก็ประท้วง ส่วนประโยชน์เป็นเรื่องรอง. เมื่อเห็นภาพถนนสองสายชัดขึ้นแล้ว เรามาทบทวนขั้นตอนการหันใจกันใหม่

    ขั้นตอนเมื่อเอาแต่ใจ

    1. คอยสังเกตตัวเองว่ากำลังไม่ยอมรับ กำลังเอาแต่ใจหรือเปล่า? ถ้าใช่.
    2. ยอมรับจากข้างใน. เราต้องยอมรับที่เรากำลังเอาแต่ใจอยู่ตอนนี้ก่อน เพราะมันคือความเป็นจริงในปัจจุบัน. ยอมรับว่าเราไม่สมบูรณ์แบบ. ไม่ต้องเกลียดตัวเองที่เอาแต่ใจ เพราะมันคือการปฏิเสธซ้ำเข้าไปอีก.
    3. หันใจไปทางยอมรับและเต็มใจ.
    4. ผ่อนคลายทั้งกายและใจ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตั้งแต่หัวจรดเท้า. ถ้ามันช่วยได้ก็อาจจะดูลมหายใจ หรือยิ้มน้อยๆ หรือทำท่าผายมือออกทั้งสองข้าง หงายมือขึ้น เหมือนเปิดรับอะไรก็ตามเข้ามาสู่ตัวเรา.

    และเราอาจจะต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะปัญหาที่เจ็บปวด อันตราย หรือหายนะ. ปัญหาแบบนี้การเอาแต่ใจจะประกันว่าเราจะได้รับผลที่ร้ายที่สุด แต่การเต็มใจเป็นทางเดียวที่เราผ่านจะมันไปได้.

    ฝึกตลอดเวลา

    ไม่มีใครยอมรับจากข้างในได้ 100% (คงจะยกเว้นก็แต่พระอรหันต์.) การฝึกจะทำให้เรายอมรับได้ง่ายและเร็วขึ้นเรื่อยๆ. เราต้องฝึกยอมรับทุกวัน ตลอดเวลา. ในช่วงแรก เราจะยอมรับเรื่องที่เจ็บปวดมากไม่ได้ ดังนั้นจึงควรจะฝึกกับเรื่องเล็กๆก่อน แล้วขยายผลจากความสำเร็จนั้น. ทั้งวัน คอยสังเกตความเอาแต่ใจที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ. มันจะดูออกได้ไม่ยากเพราะมันมาพร้อมความทุกข์ ขุ่นมัว หงุดหงิด หดหู่ ฯลฯ เสมอ. เมื่อรู้ตัวว่าทุกข์ สังเกตดูว่ามาจากความเอาแต่ใจ ปฏิเสธความเป็นจริงในปัจจุบันหรือเปล่า? ถ้าใช่ก็หันใจไปทางเต็มใจ. ทำไปเรื่อยๆ สำเร็จก็ดี ไม่สำเร็จก็ดี. แล้วเราจะหันใจไปเต็มใจได้บ่อยและเร็วขึ้นเรื่อยๆ.

    แต่กว่ามันจะเริ่มได้ผลอาจจะใช้เวลา จึงสำคัญว่าเราจะต้องไม่ล้มเลิก. ทำไปเรื่อยๆ พยายามมากๆ แต่ไม่ต้องหวังผล. ทักษะเหล่านี้ไม่ง่าย แต่เหนือวิสัย ก็เหมือนกีฬายากๆทุกชนิดก็ต่างมีคนเล่นได้มากมาย. ที่สำคัญ เมื่อเราทำได้แม้เพียงบางส่วน มันก็มีค่ามหาศาลแล้ว. ความเครียดจะหายไปจากชีวิตเราเยอะมาก เมื่อเราเริ่มทำได้ทีละนิด. มันน่าจะเป็นทักษะที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิตด้วยซ้ำไป ถ้าทุกคนต้องการให้ตัวเองมีแต่ความสุข มีความทุกข์น้อยที่สุด. มีคนมากมายทั่วโลกกำลังฝึกทักษะเหล่านี้เหมือนเราอยู่ตอนนี้. ในแง่ประสิทธภาพ DBT ก็เป็นวิธีจิตบำบัดที่ได้รับการทดลองกว้างขวาง มีงานวิจัยยืนยันว่าได้ผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์. ดังนั้นมันไม่ใช่ได้ผลกับบางคนที่มีความสามารถ. มันใช้ได้ผลกับทุกคน.

    แต่มันจะง่ายขึ้นสำหรับคนที่มีสติความรู้สึกอยู่กับปัจจุบันได้มาก. คนที่ทำไม่ได้สาเหตุหลักก็คือกำลังสติไม่พอ เพราะปกติไม่เคยอยู่กับปัจจุบัน บางคนเกลียดปัจจุบันมาก ต้องหนีด้วยเพลง ทีวี แชต โทรศัพท์ ฯลฯ ถ้าปิดสิ่งเหล่านี้ซึ่งจะทำให้พบกับตัวเองและขณะปัจจุบัน หลายคนจะทนไม่ได้ด้วยซ้ำไป. ผลคือเวลาที่เครียด หงุดหงิด เสียใจ บางทีเราไม่รู้ว่าเกิดจากความคิดเรื่องอะไร เพราะตอนคิดไม่ได้รู้สึกตัว เลยคิดว่ารู้สึกแย่โดยไม่มีสาเหตุ จริงๆมีสาเหตุแต่เราไม่รู้. อย่างนี้เวลาเรากำลังปฏิเสธความจริง กำลังเอาแต่ใจ แต่เราไม่รู้สึกตัว แล้วเราจะหันใจไปทางยอมรับเต็มใจได้ไง? ก็ต้องทรมานรู้สึกแย่โดยไม่รู้สาเหตุ.

    เนื่องจากสติความรู้สึกตัวก็เหมือนกล้ามเนื้อ ยิ่งฝึกยิ่งใช้ยิ่งแข็งแรง การเข้าคอร์สเจริญสติจะช่วยให้เรามีกำลังสติมากขึ้นเพียงพอสำหรับการฝึกยอมรับเต็มใจ. และรู้วิธีที่จะฝึกสติด้วยตัวเองที่บ้านตลอดเวลา. ที่สำคัญคือเลือกคอร์สเจริญสติเท่านั้น ไม่ใช่คอร์สสมาธิหรือถือศีล. คอร์สที่ดีจะมีคนไม่มาก ไม่ถึงร้อย และทุกคนในคอร์สไม่พูดกันแม้เพียงคำเดียว. คอร์สระยะ 1-2 วัน เหมาะสำหรับชิมลางให้รู้วิธี แต่ต้องอย่างน้อย 7 วันจึงจะได้ผล เมื่อพยายามเต็มที่แล้วเราจะได้กำลังสติเพิ่มขึ้นชัดเจนติดตัวกลับบ้าน.

    ปัญหาเลี่ยงไม่ได้ แต่ความทรมานไม่จำเป็น

    ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวินาทีหน้า อาจจะเป็นปัญหาใหญ่โตมโหฬารก็ได้ ที่บ้านอาจโทรมาว่าหมาเราเพิ่งตาย ผลตรวจร่างกายออกมาว่าเราเป็นโรคหัวใจ บริษัทที่เราทำงานอยู่เปิดเผยว่าขาดทุนต้องเลย์ออฟพนักงาน ฯลฯ. ถ้าเราไม่มีทักษะเหล่านี้จะเป็นไง? หรือปัญหาเล็กๆที่เข้ามาตลอดทั้งวัน แฟนทำไม่ถูกใจ, รถติด, พนักงานบริการไม่ดี, โดนแซงคิว ฯลฯ. ถ้าเราไม่มีทักษะเหล่านี้ เราก็จะสะสมความเครียดไปเรื่อยๆ จนไประเบิดกับปัญหาสุดท้ายใส่คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่.

    ทักษะเหล่านี้ทำให้เราเกิดทัศนคติว่า “ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ฉันจะยอมรับได้ทุกอย่าง." มันทำให้รู้สึกปลอดภัย. และเมื่อเกิดอะไรขึ้นจริงๆ เราจะไม่ตระหนก มีสติที่จะจัดการปัญหานั้นได้ดีที่สุด. เพราะเราเต็มใจ.

    ที่มาของข้อมูล

    1. หนังสือ Skills Training Manual for Treating Borderline Personality Disorder Paperback (May 21, 1993)
    2. PDF  Dialectical Behavior Therapy Skills Handbook (หน้า 71 )
    3. From Suffering to Freedom: Practicing Reality Acceptance
    4. Pieces of Mind: Radical Acceptance

    โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

    รู้สึกแย่ดิ่งสุดๆ ทำไงถึงจะหาย

    ถามกันบ่อยที่สุดคือกำลังดิ่งจะทำยังไงดี ปัญหาคืออธิบายตอนนั้นก็ไม่มีสติพอจะเข้าใจอยู่ดี ดังนั้นทุกคนควรเรียนรู้เทคนิคนี้ไว้ล่วงหน้า มันมาจากจิตบำบัดแบบ ACT ( defusion ) ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากว่าได้ผล แล้วนำมาประยุกต์กับ วิธีเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ช่วงวิกฤติ วิธีทำก็ง่ายมาก จะยากตรงมันตรงข้ามกับคอมมอนเซนส์ เพราะเราเข้าใจธรรมชาติของใจเราผิดมาตลอด แต่ลองทำดูแล้วก็จะเข้าใจเอง เพราะทุกคนที่จัดการมันได้ ต่างก็ค้นพบเทคนิคนี้ได้เองจากการลองผิดลองถูก ความรู้สึกแย่เกิดจาก “ ความคิด”  เสมอ ความรู้สึกแย่ (เช่นโกรธ เสียใจ น้อยใจ กังวล​) เกิดจาก ความคิด ของเรา เสมอ ไม่เคยเกิดจากอย่างอื่น เช่น เขา พูดไม่ดีกับเราเมื่อเย็นวาน ปรากฏตอนนี้เราก็ยังรู้สึกแย่อยู่ ทั้งที่ไม่ได้ยินคำพูดนั้นแล้ว แต่เราเองเป็นคนเล่นซ้ำคำพูดที่เราเกลียดนั้นในหัวเรามาตลอด เขา เป็นต้นเหตุของความคิดนี้ใช่ แต่ ตอนนี้ ที่กำลังรู้สึกแย่ เกิดจาก ความคิดนี้ ของเรา เอง ที่ผ่านมาตอนนั้นเรามักจะโฟกัสความผิดที่ เขา  ซึ่งยิ่งทำให้ความคิดเราวนเวียนหนักขึ้นเรื่อยๆ ความคิดยิ่งมาก ความรู้สึกเราก็ยิ่งแย่ ดิ่งลงไปเร

    ลิเธียม ยาดีที่ต้องใช้ให้เป็น

    สำหรับคนที่เป็นไบโพลาร์ก็จะได้ทาน ยาคุมอารมณ์ (mood stabilizer) เพื่อจะได้ไม่ต้องมีช่วงแมเนีย และลิเธียมก็คือยาคุมอารมณ์ที่นิยมมากที่สุดตัวหนึ่ง เพราะได้ผลดี, ผ่านมาวิจัยมานานมาก, ราคาถูก และมีส่วนช่วยป้องกันช่วงดีเพรส แต่ลิเธียมเป็นยาที่ใช้ยากนิดนึง เพราะหมอจะต้องค่อยๆปรับยาขึ้นจนกว่าเราจะมียาในเลือดระดับที่พอดี ถ้าน้อยไปมันก็จะไม่ทำงาน ถ้ามากไปก็จะเกิดอาการลิเธียมเป็นพิษ หลายคนที่หมอสั่งลิเธียมให้ พอได้ยินเรื่องลิเธียมเป็นพิษเลยวิตกกังวลหนัก จนความวิตกกังวลนี้กลายเป็นผลข้างเคียงซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ดังนั้นคนที่ทานยาตัวนี้จึงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมสักนิดนึงเกี่ยวกับมัน บทความข้างล่างนี้มาจากคอลัมน์พบหมอรามา อ่านง่ายและครบถ้วนดี แต่ก่อนอื่นผมจะเกริ่นถึงประเด็นที่ทำให้กังวลกันก่อน ผลเสียจากลิเธียมจะมีอยู่ 2 ลักษณะ ถ้าแยกจากกันได้แล้วจะใช้มันได้อย่างสบายใจ ผลข้างเคียง ​ คือผลเสียในโดสปกติ  อาการลิเธียมเป็นพิษ  คืออาการป่วยเพราะมีลิเธียมในเลือดสูงเกินไป อาจจะเพราะได้ยามากเกินไป (เช่นโอเวอร์โดส) หรือเพราะสภาพร่างกายผิดปกติไปมากทำให้ขาดน้ำหรือเกลือแร่ บางคนเข้าใจว่าตัวเองแพ้ลิเธียม

    ท็อป 5 ความเข้าใจผิด โรคซึมเศร้าไม่ใช่อย่างที่คิด

    โรคซึมเศร้าเป็นคนละอย่างกับอารมณ์เศร้า แต่ชื่อโรคภาษาไทยชวนให้เข้าใจว่า มันก็แค่ความรู้สึกซึมๆเศร้าๆอย่างที่ทุกคนรู้จัก แถมคำอธิบายเกลื่อนเน็ตก็กว้างซะจน ทุกคนอ่านก็คิดว่าตนเคยเป็นโรคนี้ และสามารถวินิจฉัยว่าคนอื่นว่าเป็นหรือไม่ โดยไม่ต้องเสียเวลาเรียน 10 ปีอย่างจิตแพทย์ แต่โรคซึมเศร้าก็เหมือนหลายโรคที่มีความซับซ้อนจนต้องมีแพทย์เฉพาะทาง มันมีรายละเอียดมากและไม่เหมือนกับที่คนเข้าใจเลย แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย เราจึงรู้สึกว่าเรารู้จักมันดีอยู่แล้วด้วยคอมมอนเซนส์ล้วนๆ ต่อไปนี้คือความเข้าใจที่ผิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบ้านเรา (1)  โรคซึมเศร้าไม่มีจริง (2)  ที่เรียกโรคซึมเศร้าก็คือความเศร้า (3)  ฉันก็เคยเป็น แต่ฉันไม่ยอมแพ้ (4)  มันอยู่ที่ใจแค่นั้น สู้ๆ ลุกขึ้นมาก็หายแล้ว (5)  หมอกุเรื่องขึ้นมาเพื่อให้บริษัทยารวย 1 ความเชื่อ: โรคซึมเศร้าไม่มีจริง  โรคจิตเวชจะต้องเสียสติเป็นคนบ้า ความจริง:  องค์การอนามัยโลกบอก ว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า (MDD) นั่นมากกว่า 4% ของประชากรโลก  ส่วนในไทย ปี 2551 กรมสุขภาพจิตประมาณว่ามี คนไทย 1.5 ล้านคน เป็นโรคซึมเศ

    จะกินยา หรือไม่กินดี?

    โชคดีมากที่ปัจจุบันโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์สามารถรักษาได้ด้วยยา คนไข้ที่มีวินัยหาหมอกินยา 6 เดือนถึงปีกว่าส่วนใหญ่ก็จะหายและได้หยุดยา สาเหตุใหญ่ที่ทำให้บางคนไม่หายคือ “ไม่อยากกินยา” จะกินไม่กินดี? เมื่อไม่อยากกินยา แต่หมอสั่งให้กิน เราจะเกิดอาการลังเล “จะกินไม่กินดี?” แล้วลงเอยที่ “กินๆหยุดๆ” ซึ่งแย่กว่าไม่กินเสียอีก สภาวะนี้ทำให้เครียดหนักมาก กินก็รู้สึกแย่ ไม่กินก็อาการแย่ สับสนตำหนิตัวเองวนไปวนมา จะทำยังไงดี?

    เป็นโรคจิตเวชไม่ได้ทำให้รอดคดีอาญา

    ข่าวดราม่าที่ผู้ก่อเหตุเผยว่าเป็นโรคจิตเวช คนมักจะมองว่า “หงายการ์ดป่วย” โกหกว่าป่วยเพื่อเอาตัวรอด เพราะเข้าใจผิดว่าใครทำให้ศาลเชื่อว่าป่วยจิตเวช แล้วศาลจะให้พ้นผิดไปเลย เนื่องจากสังคมไทยยังเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยจิตเวชคือคนบ้า และเชื่อว่ากฎหมายบอกว่าคนบ้าทำอะไรก็ไม่ผิด กรณีแบบนี้คนจึงพากันโกรธแค้นเพราะนึกว่าเขาจะไม่ต้องรับโทษจริงๆ ความเชื่อคนบ้าทำอะไรไม่ผิด เกิดจากคนส่วนใหญ่เห็นข่าวแบบนี้เฉพาะตอนเกิดเหตุเป็นดราม่าว่าอ้างป่วยจิตเวชแล้วทำอะไรก็ไม่ผิด แต่ตอนศาลพิพากษาลงโทษข่าวจะเงียบ ทุกคดีความจำของสังคมจึงสรุปตามดราม่าว่าศาลยกโทษเสมอ ทั้งที่จริงๆแล้วศาลลงโทษทุกที จริงๆกฎหมายอาญาไม่ได้ระบุให้เว้นโทษกับผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่ง  มาตรา 65 บอกว่าเฉพาะกรณีที่ขณะกระทำความผิด จำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ (ที่เรียกกันว่าวิกลจริต) จึงจะไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นเมื่อผู้ก่อเหตุเผยว่าเป็นโรคจิตเวชใดๆก็ยังไม่มีผลอะไร นอกจากจะทำให้สังคมเกลียดเขามากขึ้นจากความเข้าใจผิดข้างต้น การโกหกให้ศาลไทยเชื่อว่าวิกลจริตขณะก่อเหตุ แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะนอกจากจะต้องหลอกจิตแพทย์แล้ว ศาลไทยก็ไม่ได้ฟั

    ฉันกำลังดีเพรสหรือเปล่า หรือฉันกำลังแมเนีย

    เวลาพบหมอ มันสำคัญมากที่เราจะต้องสามารถสื่อสารว่า ช่วงที่ผ่านมาเราอาการเป็นไง สัปดาห์ไหนปกติ สัปดาห์ไหนดีเพรสบ้าง และ (สำหรับไบโพลาร์) สัปดาห์ไหนแมเนียหรือเปล่า. เมื่อเข้าใจโรคเพียงคร่าวๆ คนมักจะคิดว่าดีเพรสคือเศร้านานๆ แมเนียคือรู้สึกดีหรือก้าวร้าวนานๆ ซึ่งถูกเพียงส่วนเดียว. เมื่อเข้าใจนิยามของอาการเหล่านี้ไม่ตรงกับหมอ เวลาเราเล่า หมอก็จะเข้าใจอาการไม่ตรงกันเรา. ผลคือหมอก็จะปรับยาผิด เพราะเข้าใจอาการผิด เช่นเราดีเพรสอย่างเดียวมานานแล้ว แต่วีนแฟนบ่อยเพราะปัญหาชีวิตคู่. เราเล่าอาการทีไรหมอก็คิดว่าแมเนีย เลยให้แต่ยาคุมอารมณ์. ความเข้าใจผิดแบบนี้ทำให้การรักษาไม่คืบหน้า เพราะยาไม่ช่วยให้อาการหายหมดสักที จนบางคนท้อกับการรักษา. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ เราต้องเข้าใจอาการของโรคตรงกับนิยามที่หมอใช้. เมื่อสื่อสารกับหมอได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาก็จะก้าวหน้า เราก็จะมีอาการน้อยลง และสามารถใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้นเรื่อยๆ.

    วอนใช้คำให้ถูก โรคไบโพลาร์ไม่ใช่ที่เห็นในสื่อและละคร

    วันนี้ 30 มีนาคม 2561 เป็น วันไบโพลาร์โลก  วันที่เราชวนให้โลกหันมาทำความรู้จักโรคไบโพลาร์¹ เพื่อกำจัดตราบาปในสังคม บ้านเรามีตราบาปโรคนี้ที่ไม่เหมือนที่อื่น เราใช้ชื่อไบโพลาร์เป็นคำด่านักการเมือง หรือคนที่เรากลียดชนิดไม่มีคำไหนสื่อระดับความเลวได้  เพราะหลักสูตรเราไม่ได้สอนเรื่องโรคจิตเวชกับเด็กๆ พอคนเห็นชื่อไบโพลาร์แปลว่าสองขั้ว ก็คิดเอาเองว่าคนป่วยจะเป็นคน ① สองบุคลิก วันนึงเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ② สองหน้า โกหกพลิกไปมาหน้าตาเฉย ③ เอาแต่ใจ ขี้วีน คุมตัวเองไม่ได้ ④ เสพติดความรุนแรงแบบฆาตกรโรคจิต ซึ่งทั้งหมดอาจจะเป็นโรคจิตเวชก็ได้ แต่เป็นโรคอื่นที่ไม่ได้ใกล้เคียงกับไบโพลาร์สักนิด โรคไบโพลาร์ ในทางการแพทย์คือ ในทางการแพทย์ โรคไบโพลาร์   เป็น โรคทางสมอง ² ที่ทำให้มี บางเดือนเปลี่ยนไปแบบทุกวันหมดพลัง ท้อแท้ (เหมือนโรคซึมเศร้า) บางสัปดาห์/เดือนเปลี่ยนไปแบบทุกวันพลังล้นไฮเปอร์ มั่นใจเกินร้อย ช่วงที่เหลือ (เวลาประมาณ 50%³) ก็ปกติเหมือนตอนก่อนป่วย ความผิดปกติของสมองผู้ป่วยไบโพลาร์ ก็เหมือนคนเป็นไมเกรนไม่ได้ปวดหัวตลอดเวลา เขาจะปวดเฉพาะเวลาอาการกำเริบ สำหรับไบโพลาร์ช่วง 1 และ 2

    ถ้าอยากหาย อย่าอยากหายเร็วๆ ให้คิดแบบนี้แทน

    โรคเรานั้นรักษาไปก็หาย แต่ความที่มันทรมาน เราก็มักจะอยากหายเร็วๆ แต่มันไม่ใช่แค่หวัดที่จะหายได้ในไม่กี่วัน แม้อาการบางอย่างเช่นนอนไม่หลับอาจจะดีขึ้นเร็ว แต่อาการดีเพรสกว่าจะดีขึ้นก็เป็นเดือน ถ้าเราอยากหายเร็วๆมันจะทรมานสุดๆ จนสุดท้ายบางคนจะยอมแพ้ไปก่อน ฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็เลิกรักษา ทั้งที่อาการก็ดีขึ้นแล้ว และถ้ารักษาต่อไปก็จะหายแน่ๆ แต่การรอคอยนั้นทรมานเกินไป ก็เลยหยุดยาเอง แล้วก็ได้พบกับนรกที่แย่กว่าอาการตอนแรกเสียอีก แล้วก็วนกลับมาเริ่มต้นรักษาใหม่ แต่คราวนี้ยาตัวเดิมอาจไม่ได้ผลเหมือนเก่า การรอคอยนั้นทรมานกว่าอาการของโรค ถ้าเรารอคอยนับวันเมื่อไหร่จะหาย แต่ละนาทีจะยาวนานเหมือนเวลาเดินช้ามาก ความทรมานส่วนนี้จะมากกว่าอาการของโรคทีแรกเสียอีก เหมือนไม่ใช่แค่รอคอยเฉยๆ แต่มีไฟลนหัวใจเราไปด้วย โชคร้ายที่เราจะแยกไม่ออกว่า ความเจ็บปวดส่วนไหนคืออาการของโรค ส่วนไหนมาจากการรอคอย ต่อเมื่อเลิกรอคอยแล้วเราจึงจะเห็นกับตา เมื่อความทรมานหายไป แต่มันยากสุดๆที่ใครจะเชื่อว่าการอยากหายนั้นเป็นโทษ เพราะความอยากหายนั้นเป็นคอมมอนเซนส์มากๆ แล้วมันก็เวิร์กในกรณีทั่วไปด้วย “ต้องอยากได้อันนั้นสิ ถึงจ

    กลยุทธ์การคืนสู่สุขภาวะของป้าหนู

    Pa Noo's Recovery Strategy โดยป้าหนู รัชนี แมนเมธี ป้าหนูขอแบ่งกลยุทธ์เป็น 4 ช่วงเวลาดังนี้ พ.ศ. 2545–2547 : ช่วงเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2548–2558 : ช่วงปานสายใยแห่งรัก พ.ศ. 2559–2566 : ช่วงประจักษ์ตัวตน พ.ศ. 2567 - หมดลมหายใจ : ช่วงค้นพบตัวเอง 1. ช่วงเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2516 ป้าเริ่มสอนหนังสือ พอถึง พ.ศ. 2545 ป้าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า กว่าจะได้เข้ารับการรักษา ปี พ.ศ. 2546 ปี 2546 ปลายๆหมอบอกป้าหายป่วย แต่ป้ายังรู้สึกชีวิตมืดมน 1 เม.ย. 2547 ป้าได้เกษียณก่อนกำหนด ( Early Retire ) เป็นวันแรก 2. ช่วงปานสายใยแห่งรัก ป้าได้มีโอกาสเรียนรู้ และเป็นกรรมการสมาคมสายใยครอบครัว ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ป้ามีความสุขมาก เพราะได้ฟื้นพลังชีวิต ป้าได้เห็นคุณค่าในตนเองมาก 3. ช่วงประจักษ์ตัวตน ป้าได้นำประสบการณ์ช่วงที่ 2 และประสบการณ์ที่มีมาตั้งแต่เดิมมาใช้ประโยชน์ในการทำงานเพื่อส่วนรวมได้มากมายมหาศาล 4. ช่วงค้นพบตนเอง ป้าตกผลึกชีวิตตนเองเรียบร้อย เพราะได้ประจักษ์ตัวตนของตัวเอง รู้ว่าตนมีจุดแข็ง - จุดอ่อน, มีโอกาส - ถูกคุกคาม อะไรอย่างไร เห็นคุณค่าและภูมิใจในตนเองว่าสามารถทำประโยชน์ให้มนุษยชาติได้อย่างไรมากที่สุดตาม